“เครื่องประดับทองสุโขทัย” หัตถ

Norway
   ปัจจุบันแม้ราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นเพียงใด ทว่าทองคำก็ยังคงมีคุณค่าในตัวเองที่ใครๆ ต่างก็ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ เพราะนอกจากทองคำจะเป็นโลหะธาตุมูลค่าสูงซึ่งถูกใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน เนื่องด้วยไม่เสื่อมค่าและมีสภาพคล่องสูง เป็นที่ยอมรับในระดับสากลจึงใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประเทศแล้ว ทองคำยังถือว่าเป็นวัตถุที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว มีสีเหลืองสว่างสดใสและมีความสุกปลั่งเป็นประกายสวยงามสะดุดตา เนื้อทองคำมีความยืดหยุ่นและเหนียวคงทน จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักใช้ทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย ด้วยเหตุนี้ผู้คนทั่วโลกจึงยังนิยมซื้อทองคำหรือเครื่องประดับทองเฉกเช่น ค่านิยมในอดีต โดยเฉพาะชาวเอเชียที่ให้ความสำคัญต่อการสวมใส่เครื่องประดับทองรูปพรรณ ดังที่ยึดถือกันมาตามขนบธรรมเนียมประเพณีแต่ดั้งเดิม โดยมักใช้ในพิธีหมั้นหรือแต่งงาน ซึ่งแทนค่าสินสอดในการขอแต่งงาน หรือใช้เป็นของขวัญให้แก่กันและกันในโอกาสหรือช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ขณะเดียวกันการสวมใส่เครื่องประดับทองของ ผู้คนในปัจจุบันนอกจากในแง่คุณค่าทางจิตใจและความสวยงามแล้ว ยังเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงฐานะทางสังคมหรือความทันสมัยตามกระแสแฟชั่น อีกทั้งเครื่องประดับทองยังมีบทบาทเป็นสินทรัพย์สะสมความมั่นคงที่เหมาะแก่การลงทุนด้วยเช่นกัน

เครื่องประดับทองอันทรงคุณค่าตามวิถีไทย
   ในประเทศไทยนั้น การนำทองคำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับเฟื่องฟูมาตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัยต่อเนื่องไปยังสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยแรกเริ่มเป็นการผลิตเพื่อใช้ในระดับกษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูงต่างๆ ด้วยยังมีกฎระเบียบแบบแผนในการสวมใส่เครื่องประดับ และห้ามมิให้สามัญชนทั่วไปมีเครื่องประดับได้ จนกระทั่งในช่วงกลางยุคสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติ ทั้งจากยุโรปและจีนเดินทางเข้ามาค้าขายสินค้ากันอย่างคึกคัก รวมไปถึงช่างทองชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบกิจการและอาศัยอยู่ในไทยด้วย ทำให้การใช้เครื่องประดับมิได้จำกัดเช่นแต่ก่อน จึงมีการผลิตและการสวมใส่เครื่องประดับกันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
   จากทองคำที่มีสถานภาพเป็นเพียงแร่ธาตุหายากชนิดหนึ่ง ได้รับการหล่อหลอมสลักเสลาเกลากลึง ตัดต่อสร้างสรรค์ให้สามารถอวดความงามได้ในรูปของเครื่องประดับอันประณีตอ่อนช้อย โดยอาศัยภูมิปัญญาอันชาญฉลาด ผ่านการสั่งสมประสบการณ์และทักษะฝีมือความชำนาญทางเชิงช่าง จนกลายเป็นรากฐานทาง ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญ และเป็นมรดกทางหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าที่เฟื่องฟู และสืบทอดมาอย่างยาวนานในหลายยุคสมัยของไทยจวบจนปัจจุบัน ส่งผลให้การรังสรรค์เครื่องประดับทองของไทยในยุคสมัยนี้ถือได้ว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยฝีมือเชิงศิลป์ที่วิจิตรงดงาม ซึ่งถ่ายทอดเทคนิคการผลิตมาจากบรรพบุรุษในท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงต่อยอดองค์ความรู้ดั้งเดิมควบคู่ไปกับการประยุกต์พัฒนางานฝีมือ ผสมผสานรูปแบบโบราณและร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชิ้นงาน และสืบสานอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ให้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ต่อเนื่องจากความรุ่งเรืองในอดีต
    ปัจจุบันเครื่องประดับทองที่มีจำหน่ายในประเทศไทยนั้น แบ่งออกได้เป็นทองรูปพรรณหรือที่เรียกว่า ทองตู้แดง ซึ่งทำด้วยทองที่มีค่าความบริสุทธ์ 96.50% (23.16 กะรัต) ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานตามความนิยมของคนไทย เครื่องประดับทอง 18 กะรัต หรือมีเนื้อทองอยู่ 75% ซึ่งมักตกแต่งอัญมณีร่วมด้วย และเครื่องประดับทองอีกหนึ่งประเภทที่เปรียบเป็นดั่งงานศิลป์ชั้นสูงที่สวมใส่ได้ ซึ่งนับวันทรงคุณค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ เครื่องประดับทองโบราณ ที่ทำด้วยทองคำ 99.99% (24 กะรัต) ซึ่งเครื่องประดับทองโบราณนั้นมิได้มีความหมายถึงเครื่องประดับล้าสมัยเก่าครํ่าครึ หากแต่หมายถึงกลิ่นอายของวัฒนธรรมงานศิลป์ฝีมือช่างขั้นสูงที่ส่งผ่านลงไปยังชิ้นงานด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถัน และเทคนิคการสร้างลวดลายรังสรรค์งานที่ต้องอาศัยทักษะฝีมือช่างที่เชี่ยวชาญ อันมิอาจนำเครื่องจักรอัตโนมัติใดมาทดแทนได้
    หากจะเอ่ยถึงเครื่องประดับทองโบราณอันลือชื่อของไทยที่นับได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า คงต้องกล่าวถึง “เครื่องประดับ ทองสุโขทัย” ซึ่งมีลักษณะพิเศษจากกระบวนการผลิตด้วยมือทั้งหมด และใช้วัตถุดิบทองคำที่มีค่าความบริสุทธิ์สูงถึง 99.99 % ด้วยเทคนิคการผลิตที่ได้จากการศึกษาและฟื้นฟูกรรมวิธีการถักทองของคนโบราณในยุคสมัยสุโขทัยขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งพัฒนาและผสมผสานแนวคิดสร้างสรรค์สู่การประดิษฐ์รูปแบบใหม่ๆ จนกลายเป็นขึ้นงานเครื่องประดับที่มีคุณค่าแฝงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ค่อนข้างชัดเจน ทั้งจากลวดลายหรือการออกแบบ เช่น ลักษณะการถักเส้นทอง การทำลูกประคำ การฉลุลายบนชิ้นงาน การลงยาเพิ่มสีสัน รวมถึงกระบวนการผลิตที่อาศัยจินตนาการ ความเชี่ยวชาญ และความมานะอดทน จนถ่ายทอดออกมาเป็นงานเครื่องประดับทองแห่งยุคสมัย โดยมีต้นแบบ หรือแรงบันดาลใจมาจากการประยุกต์ลวดลายโบราณ ทั้งจากโบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เป็นรากเหง้าของวิถีชุมชน ไม่ว่าจะเป็นลวดลาย ปะติมากรรม รูปเคารพ ลายปูนปั้น และภาพจิตรกรรมฝาผนัง อาทิเช่น ลายนางพญา ซึ่งมีที่มาจากลายปูนปั้นของวัดนางพญา ลายเครือวัลย์ที่เลียนแบบมาจากเถาวัลย์ เป็นต้น

เอกลักษณ์การรังสรรค์เครื่องประดับทองสุโขทัย
   กรรมวิธีการผลิตเครื่องประดับทองตามแบบฉบับทองสุโขทัยนั้นมีหลายขั้นตอนด้วยกัน ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความพิถีพิถันและฝีมืออันประณีตทั้งสิ้น โดยเริ่มจากการหลอมทองคำแท่งบริสุทธิ์ซึ่งมีเนื้อทอง 99.99% ปราศจากโลหะอื่นๆ และน้ำประสานทองเจือปน เนื่องจากคุณภาพของเนื้อทองคำมีผลต่อความยากง่ายในการขึ้นชิ้นงานเครื่องประดับ เพราะทองบริสุทธิ์นั้นมีความอ่อนนุ่มยืดหยุ่นดี เหมาะแก่การทำเครื่องประดับทองตามรูปแบบของช่างทองโบราณ และด้วยความที่เป็นทองเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงทำให้เครื่องประดับมีสีทองเปล่งปลั่งกว่าทองรูปพรรณทั่วไปที่มักทำด้วยทองคำ 96.50% เมื่อช่างทองนำทองคำแท่งมาหลอมให้ละลายโดยการเป่าไฟในเบ้าหลอม จนทองละลายกลายเป็นของเหลว แล้วจึงเทลงในรางสี่เหลี่ยม เมื่อทองแข็งตัวจับเป็นแท่งแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการตีทองหรือรีดทอง ช่างทองจะนำทองที่หลอมแล้วมาตีแผ่เป็นแผ่น หรือรีดยาวเป็นเส้น หรือเป็นแผ่น โดยใช้เครื่องรีดแผ่นทอง และเครื่องชักทองเป็นเส้นขนาดต่างๆ กันตามความต้องการ
    หลังจากกระบวนการข้างต้นแล้วจึงนำมาสู่วิธีการประดิษฐ์ชิ้นงานทองสุโขทัย ด้วยการขึ้นรูปทรงและลวดลายทองรูปพรรณหลายลักษณะ ได้แก่ การถักทอง ซึ่งมีทั้งการถักลวดลายแบบกลมที่เกิดจากจำนวนทองน้อยเส้น ตั้งแต่ลายสามเสาถึงลายสิบเสา และการถักลวดลายแบบแบน อาทิ ลายเปีย ลายยี่สิบเสา ลายยี่สิบสี่เสา ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับทำสร้อยข้อมือ การขึ้นลูกประคำทองที่มีลักษณะเหมือนลูกปัดมีทั้งทรงกลมและทรงรี ด้วยการนำแผ่นทองที่ตีได้ไปตอกลงในรางโอ ซึ่งเป็นแบบขึ้นรูปทรงมีลักษณะเป็นหลุมหลายขนาด โดยตอกให้เป็น 2 ฝา แล้วจึงนำมาประกบกัน และเจาะรูตรงกลางทะลุถึงกันเพื่อใช้สำหรับร้อยตกแต่งขึ้นงาน การขึ้นปีบซึ่งเป็นการนำทองที่รีดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆ กันมาประกอบเชื่อมต่อกันด้วยน้ำประสานทองแล้วจึงปิดฝาและเจาะรูหัวท้าย จากนั้นจึงนำชิ้นงานทองลักษณะต่างๆ มาร้อยเรียงและเชื่อมประกอบกันให้เป็นเครื่องประดับลวดลายแบบไทยตามจินตนาการเชิงศิลปะของช่างทองแต่ละคน
    นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารูปแบบเครื่องประดับทองอีกหลายขั้นตอน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การลงยาด้วยหินสี เช่น สีแดง เขียว น้ำเงิน สำหรับตกแต่งเครื่องประดับให้มีลวดลายสีสันสวยสดงดงาม แทนการประดับเพชรพลอยสีต่างๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของเครื่องประดับทองสุโขทัย ซึ่งองค์ความรู้ในการผลิต เครื่องประดับทองเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดสู่ลูกหลาน และขยายเป็นชุมชนช่างฝีมือผลิตเครื่องประดับทองในตำบลท่าชัยและตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มานานกว่า 20 ปี โดยปัจจุบันมีร้านค้าผู้ผลิตที่เป็นที่รู้จักกันดีหลายสิบราย อาทิ บ้านทองสมสมัย ผู้ริเริ่มงานเครื่องประดับทองสุโขทัย บ้านทองสมศักดิ์ อรอนงค์ช่างทอง ร้านทองนันทนา เป็นต้น
    ด้วยสองมือที่บรรจงสร้างสรรค์เครื่องประดับทองตามแบบอย่างเครื่องทองสมัยโบราณทำให้ได้มาซึ่งงานทองหัตถศิลป์ล้ำค่าหลากแบบหลายลวดลาย ทั้งในรูปแบบเครื่องประดับไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล แหวน ต่างหู จี้ เข็มขัด กรอบพระ หรือจะเป็นชิ้นงานตามที่ลูกค้าสั่งพิเศษ เช่น ทับทรวง รัดเกล้า กำไลแขน ไปจนถึงเครื่องประดับตามโบราณวัตถุอย่างพระพุทธรูปที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่าคู่บ้านคู่เมือง จนสามารถครองใจผู้ที่นิยมชมชอบในงานเครื่องทองสไตล์โบราณได้เป็นอย่างดี เพราะต่างรู้ดีว่าความวิจิตรของลวดลายทอง อันประณีตอ่อนช้อยที่ผลิตขึ้นด้วยฝีมือของช่างชาวศรีสัชนาลัยในสุโขทัยนั้น เป็นที่เลื่องชื่อถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความงดงามวิจิตรแตกต่างจากเครื่องประดับทองโบราณที่มีจำหน่ายอยู่บ้างในบางภูมิภาคของไทยรวมถึงใน กรุงเทพฯ หรือทองรูปพรรณที่วางขายตามร้านค้าทองทั่วไป จนทำให้เครื่องประดับทองสุโขทัยเป็นที่ยอมรับของชาวไทยและชาวต่างชาติที่ส่วนใหญ่มักเดินทางไปซื้อหากันถึงแหล่งผลิตเลยทีเดียว ซึ่งไม่เพียงมีรูปแบบ เครื่องประดับให้เลือกสรรมากมาย แต่ยังเป็นโอกาสในการเยี่ยมชมกรรมวิธีการผลิตอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ที่มา :ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)